นิทรรศการเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

นิทรรศการเทิดพระเกียรติ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พระบาทสมเด็จ
พระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
บรมนาถบพิตร

หรือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470
เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
กับ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
และเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
กับสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี
ครองราชสมบัติตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489
นับเป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงครองราชสมบัติ
ยาวนานที่สุดในประเทศไทย

“…วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเจริญของบ้านเมือง
เราจึงควรสนับสนุนให้มีการค้นคิดเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับ
สภาวะและความต้องการของประเทศขึ้นใช้เองอย่างจริงจัง
ถ้าเราสามารถค้นคิดได้มากเท่าไร ก็จะเป็นการประหยัด
และช่วยให้สามารถนำไปใช้ในงานต่าง ๆ
ได้กว้างขวางยิ่งขึ้นเท่านั้น…”

พระราชดำรัส พระราชทานเนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติและครบรอบ 120 ปี หว้ากอ
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 1 สิงหาคม 2531

พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย

ฝนหลวง

“...แต่มาเงยดูท้องฟ้า
มีเมฆ ทำไมมีเมฆอย่างนี้
ทำไมจะดึงเมฆนี่ลงมาให้ได้
ก็เคยได้ยินเรื่องการทำฝน
ก็มาปรารภกับคุณเทพฤทธิ์
ฝนทำได้ มีหนังสือ
เคยอ่านหนังสือทำได้…”

พระราชดำรัสเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2529
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

19 ตุลาคม 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงควบคุมบัญชาการและอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่เป็นครั้งแรกของโลก ณ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยใช้สนามบินบ่อฝ้าย อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นฐานปฏิบัติการและประสบความสำเร็จฝนตกตามเป้าหมายอย่างแม่นยำ สร้างความประทับใจแก่คณะผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศและผู้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในวันนั้นเป็นอย่างยิ่ง และในเวลาต่อมาได้มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานโครงการพระราชดำริ “ฝนหลวง” (Artificial Rain) เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎร และเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตร

เพื่อเทิดพระเกียรติในพระปรีชาสามารถ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2543 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และให้วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปีเป็น “วันเทคโนโลยีของไทย”

AR จำลองการเกิดฝนหลวง

1. สแกน QR Code เพื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน

2. เปิดแอปพลิเคชัน MFIISci2021

3. สแกนภาพ AR

ฝนหลวง คือฝนที่เกิดจากเมฆที่ได้รับการกระตุ้นหรือเสริมกระบวนการเจริญเติบโต จนสามารถเป็นฝนในพื้นที่เป้าหมายที่ต้องการในปริมาณที่สูงกว่าการตกเองตามธรรมชาติ

ขั้นตอน

  1. ก่อกวน
  2. เลี้ยงให้อ้วน
  3. โจมตี

ขั้นตอนการทำฝนหลวง

  1. ก่อกวน: ทำให้เมฆเกิดการลอยตัวรวมกลุ่มกันเป็นเมฆฝน โดยใช้สารเคมีผงเกลือโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) ที่ระดับความสูง 7,000 ฟุต เข้าไปกระตุ้นมวลอากาศ การก่อกวนเมฆจะต้องทำเมื่อความชื้นในอากาศอยู่ในระดับ > 60% จึงจะได้ผลจริง
  2. เลี้ยงให้อ้วน: เติมแคลเซียมคลอไรด์ (CaCl2) เพื่อให้เมฆเกิดการขยายตัว ที่ระดับความสูง 8,000 ฟุต เมื่อเมฆลอยตัวสูงขึ้นถึง 15,000 ฟุต (ระดับของเมฆอุ่น) จะรวมตัวกันเริ่มกลั่นตัวเป็นไอน้ำ+เม็ดน้ำ ซึ่งบางครั้งเมฆอาจลอยตัวสูงขึ้นตั้งแต่ระดับ 18,000 -20,000 ฟุต
  3. โจมตี: เมฆเย็น เติมซิลเวอร์ไอโอไดด์ (Agl) บนยอดเมฆซึ่งจะทำให้เกิดผลึกน้ำแข็ง เมื่อผลึกน้ำแข็งจากด้านบนปะทะกับเม็ดน้ำในเมฆอุ่นจะทำให้เกิดการรวมตัวกันกลายเป็นฝน
    เมฆอุ่น เติมโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) บนยอดเมฆ และเติมยูเรีย (Urea) ที่ฐานเมฆ หลังจากนั้นเมฆจะตัวรวมกันเป็นเม็ดน้ำขนาดใหญ่ เริ่มกลั่นตัวลงมาเป็นฝน (แต่ยังไม่ตก) การทำให้ฝนตกได้จะต้องเพิ่มน้ำแข็งแห้ง (Dry Ice) ซึ่งจะช่วยทำให้ฝนตกลงมาบนพื้นดินในปริมาณที่มากยิ่งขึ้น
    เมฆอุ่น + เมฆเย็น เป็นการโจมตีเมฆทำกระบวนการทั้งสองพร้อมกันจะทำให้ปริมาณน้ำฝนเพิ่มมากขึ้น

แกล้งดิน

“...ให้มีการทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัด
โดยการระบายน้ำให้แห้ง
และศึกษาวิธีการแก้ดินเปรี้ยว
เพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยว
ให้แก่ราษฎรที่มีปัญหาในเรื่องนี้
ในเขตจังหวัดนราธิวาส
โดยให้ทำโครงการศึกษาทดลอง
ในกำหนด 2 ปี และพืชที่ทดลอง
ควรเป็นข้าว...”

พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2527
ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จ.นราธิวาส

จากการที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะที่จังหวัดนราธิวาส พบว่าพื้นที่ส่วนมากมีสภาพเป็น “ดินพรุ” ซึ่งเป็นพื้นดินที่มีสภาพน้ำขัง เป็นดินเปรี้ยวที่มีสภาพความเป็นกรดอย่างรุนแรงและเป็นดินที่มีคุณภาพต่ำไม่สามารถทำการเกษตรได้ จึงทรงใช้พระอัจฉริยภาพคิดค้นวิธีการที่เรียกว่า “แกล้งดิน” หรือ “ทำให้ดินโกรธ” โดยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไป เพื่อให้ดินปล่อยแร่ธาตุที่เป็นกรดออกมา แล้วแก้ความเป็นกรดของดินโดยเติมปูนขาวหรือด่างร่วมกับการใช้ระบบชลประทานควบคุมระดับน้ำใต้ดินและนำน้ำมาเจือจางดินเปรี้ยว ซึ่งเทคนิคนี้นำไปขยายผลในการปรับปรุงดินเปรี้ยวในพื้นที่เพาะปลูกอื่น ๆ ได้ด้วย จึงเกิดเป็นโครงการแกล้งดินในเวลาต่อมา

ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ดำเนินโครงการเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็น “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” และกำหนดให้วันที่ 5 ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันนวัตกรรมแห่งชาติ”

AR จำลองการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว

1. สแกน QR Code เพื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน

2. เปิดแอปพลิเคชัน MFIISci2021

3. สแกนภาพ AR